เทศกาลง่วนเซียว 元宵

เทศกาลง่วนเซียว คืออะไร ?

เทศกาลง่วนเซียว จัดให้มีขึ้นทุกปี ในเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติเรียกว่า เดือนหยวน, และในสมัยก่อนเรียกเวลากลางคืนว่า เซียว ในภาษาจีนกลาง ดังนั้น ในประเทศจีนวันนี้จึงถูกเรียกว่า เทศกาลหยวนเซียว ในวันที่ 15 ของเดือนแรกในปีจันทรคตินี้เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวง ตามประเพณีของลัทธิเต๋าวันที่ 15 ในเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติ เรียกว่า ซ่างหยวน ตรงกับคำเรียก “เทพแห่งฟ้า” ” ท่านเป็นผู้ที่ชอบแสงสว่าง และวัตถุแห่งความสุข ดังนั้น ผู้คนจึงได้แขวนโคมไฟสีสันสวยงามนับพันๆ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณท่าน ในปัจจุบันผู้คนจะมีการละเล่นแก้ปริศนาที่อยู่ในโคมไฟ และกินขนมบัวลอยในเทศกาลหยวนเซียว เรียกว่า ขนมทังหยวน และครอบครัวก็มีการมารวมตัวกันอย่างมีความสุข.

คำว่า 元 หงวน หมายความว่า แรก ส่วน 宵 เซียว หมายความว่า กลางคืน

菜饭吃ในเทศกาลโคมไฟ, ทังหยวน ‘湯圓’ คือ ข้าวเหนียวปั้นเป็นลูกกลมๆ ข้างในใส่ไส้ถั่วแดงหวานๆ, งา หรือ ถั่วเนย ลงไป.ชาวจีนมีความเชื่อว่ารูปร่างกลมๆ ของทังหยวนและชามกลมๆ ที่บรรจุทังหยวน เป็นสัญลักษณ์ของการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของคนในครอบครัว และการกินทังหยวนจะเป็นการนำความสุข และ โชคดีให้กับครอบครัวในปีใหม่
เทศกาลหงวนเซียว จึงหมายถึง คืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน ตรงกับวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติ ในวันนี้ชาวจีนจะนิยมกินขนมบัวลอยกันในครอบครัว และออกจากบ้านมาชมการประดับโคมไฟ เพื่อความเป็นสิริมงคล ดังนั้น จึงมีการเรียกเทศกาลนี้อีกอย่างว่า เทศกาลโคมไฟ (灯节)

ส่วนตำนานเกี่ยวกับที่มาของเทศกาลมีหลากหลายมาก อาทิ

-ตำนานที่เกี่ยวกับเสนาบดีผู้เปี่ยมด้วยปัญญาและความกรุณา กับหญิงสาวยอดกตัญญู
ในสมัยกษัตริย์อู๋ตี้ของราชวงศ์ฮั่น ในเมืองหลวงฉางอัน ท่ามกลางหิมะโปรยปรายในช่วงใกล้วันตรุษจีน ขณะที่เสนาบดีนาม ตง ฟาง ซั่ว กำลังเดินชมดอกเหมยในอุทยาน ได้พบนางกำนัลนางหนึ่งกำลังจะกระโดดบ่อน้ำฆ่าตัวตาย จึงได้ขัดขวางและขอทราบถึงสาเหตุ นางจึงได้เล่าความทุกข์ให้ฟังว่า ตนชื่อ หยวน เซียว ถูกส่งเข้ามาอยู่ในวังตั้งแต่เยาว์วัยและขาดการติดต่อจากครอบครัว เมื่อถึงยามตรุษเช่นนี้จึงคิดถึงพ่อแม่พี่น้องที่เคยร่วมกันรับประทานอาหารในวันตรุษจีนอย่างอบอุ่นและมีความสุข และรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนอกตัญญู จึงตั้งใจจะฆ่าตัวตายหนีความทุกข์ เสนาบดีตง ฟาง ซั่วจึงปลอบใจและให้สัญญาว่าจะทำให้นางได้พบกับครอบครัวในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนอ้าย วันสารทที่ 2 จากนั้น ตง ฟาง ซั่ว จึงได้กระจายข่าวลือไปทั่วเมืองหลวงว่า “เมืองฉางอันมีเคราะห์ร้าย จะถูกไฟเผาไหม้ทั้งเมืองในคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนอ้าย แต่ก่อนจะถึงวันนั้นจะมีหญิงใส่ชุดแดงขี่ลามาเตือนชาวเมืองก่อน” จากนั้นได้เกณฑ์ชายชราไปรอต้อนรับ เมื่อชายชราไปพบนางชุดแดงก็ได้อ้อนวอนต่อนาง นางจึงได้กล่าวต่อชายชราว่า “เง็กเซียนฮ่องเต้ต้องการเผาเมืองฉางอันให้ลุกไหม้แดงฉาน หากนางไม่เผาเมือง เง็กเซียนฮ่องเต้จะลงโทษนางได้ และฝากส่งสารนี้ให้แก่ฮ่องเต้อู๋ตี้ด้วย” เมื่อความไปถึงฮ่องเต้ พระองค์ทรงตกพระทัยมาก จึงมีราชโองการให้ตง ฟาง ซั่ว สั่งการให้ขุนนางและประชาชนทุกครัวเรือนในนครฉางอันจุดโคมไฟสีแดงทั่วทั้งเมือง และให้ชาวบ้านถือโคมแดงออกมาเดินตามท้องถนนในคืน 15 ค่ำ เดือนอ้ายโดยพร้อมเพรียงกันให้แสงไฟสีแดงสว่างไสวทั่วทั้งเมือง พร้อมให้มีการจุดประทัดและดอกไม้ไฟอย่างอึกทึก เพื่อลวงเง็กเซียนฮ่องเต้ว่าไฟกำลังลุกไหม้นครฉางอันอย่างรุนแรง ตง ฟาง ซั่วจึงได้จัดให้นางหยวน เซียวอยู่ในกลุ่มผู้ที่เดินถือโคมแดงเดินนำชาวบ้าน และให้โอกาสนางได้กลับบ้าน เพื่อทำขนมทังถวน(บัวลอย)และรับประทานร่วมกับครอบครัวอย่างมีความสุข จากเหตุการณ์ครั้งนั้น สำนักพระราชวังจึงได้ยึดถือเป็นงานประเพณีต่อเนื่องกันมาตราบจนทุกวันนี้

-ตำนานที่เกี่ยวกับเง็กเซียนฮ่องเต้
นานมาแล้วในยุคที่ยังมีสัตว์ร้ายทำร้ายผู้คนมากมาย ทำให้มนุษย์ต้องรวมตัวกันต่อสู้กับสัตว์ร้ายเหล่านั้น กระทั่งวันหนึ่ง ได้มีวิหคสวรรค์บินหลงมายังโลก แล้วถูกมนุษย์ฆ่าตาย ทำให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทรงพิโรธ มีราชโองการให้เหล่าขุนพลสวรรค์เผาทำลายโลกมนุษย์ให้หมดสิ้น ในคืน 15 ค่ำเดือนอ้าย ในครั้งนั้นธิดาของเง็กเซียนฮ่องเต้ เกิดสงสารมนุษย์ จึงแอบลงมายังโลกมนุษย์เพื่อเตือนภัยล่วงหน้า เมื่อนั้นจึงมีผู้เฒ่าคนหนึ่งได้เสนอแผนการว่า ในคืนวัน 14 ค่ำ -16 ค่ำเดือนอ้าย ให้ทุกคนแขวนโคมประดับ จุดประทัดเสียงดัง พร้อมกับจุดพลุ ให้เง็กเซียนฮ่องเต้เข้าใจว่าโลกถูกเผาแล้ว เมื่อเง็กเซียนฮ่องเต้ทรงทอดพระเนตรลงมา ทรงเห็นว่าบนโลกนอกจากแดงเถือกไปหมดแล้ว ยังมีเสียงดังโหวกเหวก ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน จึงคิดว่าโลกได้ถูกไฟเผาไปแล้ว เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในครั้งนี้ ทำให้ทุกปีเมื่อถึง 15 ค่ำเดือนอ้าย ทุกๆบ้านก็จะมีการแขวนโคมไฟ และจุดประทัดเพื่อระลึกถึงวันดังกล่าว

-ตำนานที่เกี่ยวกับการเฉลิมฉลองการปราบกบฏ
บ้างก็ว่า เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก(ก่อนคริสตกาล 206 ปี – ค.ศ.25) หลังจากจักรพรรดิฮั่นเหวินตี้ ได้ปราบกบฏเสร็จสิ้น พระองค์รู้สึกปิติยินดีกับความสงบสุขที่เกิดขึ้น จึงต้องการจะจัดงานฉลองร่วมกับประชาชนขึ้น โดยทรงมีพระราชโองการให้กำหนดวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนอ้าย เป็นวันเทศกาลโคมไฟ เมื่อถึงคืนวันนั้นของทุกปี พระองค์จะเสด็จแปรพระราชฐานและเสด็จพระราชดำเนินไปชมตามสถานที่ต่างๆ และทรงร่วมสนุกสนานกับชาวบ้าน ในวันนั้น แต่ละครัวเรือน และตามถนนหนทางหรือตรอกซอกซอยต่างๆ จะมีการแขวนโคมไฟที่มีรูปแบบต่างๆ นานาและวิจิตรพิสดารขึ้นเพื่อให้ผู้คนทั้งหลายได้เที่ยวชมเป็นขวัญตา

-ตำนานที่เกี่ยวกับความศรัทธาใน พระพุทธศาสนา

บ้างก็ว่าเริ่มขึ้นเมื่อ 1,900 ปีที่แล้ว ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งพระองค์มีความศรัทธาในศาสนาพุทธ และทรงได้ยินมาว่าในวันขึ้น 15 ค่ำของเดือนอ้าย พระสงฆ์จะเข้าไปสักการะพระธาตุและจุดประทีบูชาเพื่อแสดงความศรัทธา ดังนั้น จึงมีพระราชบัญชาให้วัดและวัง รวมไปถึงประชาชนทำการแขวนโคมไฟ จนเป็นจุดเริ่มต้นของกิจกรรมชมโคมไฟอย่างแพร่หลาย และเมื่อล่วงเข้าราชวงศ์ชิง ก็มีการเพิ่มการเชิดสิงโต เชิดมังกร แข่งเรือเข้าไปจนทำให้เทศกาลนี้มีสีสันมากยิ่งขึ้น

นอกจากนั้น กว่า 2,000 ปีที่ผ่านมา เทศกาลง่วนเซียว โดยนัยยะแล้วยังเป็นเทศกาลแห่งคู่รักอีกด้วย เนื่องจากสตรีในอดีต ที่ส่วนใหญ่จะเก็บตัวอยู่แต่ในเรือนชาน ไม่ค่อยมาร่วมกิจกรรมนอกบ้าน ในเทศกาลนี้ จะได้มีโอกาสออกมาชมการประดับโคมไฟ เล่นทายปริศนา ทำให้หนุ่มสาวทั้งหลาย มีโอกาสมองหาและเลือกคู่ครองในอนาคตของตนได้

อีกสิ่งหนึ่งที่ลืมไม่ได้ในเทศกาลหงวนเซียว คือ การรับประทานบัวลอย ซึ่งถือได้ว่าเป็นขนมประจำเทศกาล ซึ่งทำจากแป้งข้าวเจ้า ภายในมีไส้ทั้งไส้หวานและไส้เค็ม ปั้นเป็นลูกกลมๆ แล้วนำไปต้มหรือนำไปทอด

Cr. GotoKnow โดย Surachet aj Nui Kasemsiri ใน aj Nui, https://th.wikipedia.org/wiki/เทศกาลโคมไฟ

ขอเชิญชวนลูกหลานชาวแซ่แต้ ทุกท่าน เข้าร่วมงานเทศกาลหงวนเซียว/ง่วนเซียว (元宵节) เพื่อร่วมประกอบพิธีไหว้บรรพบุรุษและทำความรู้จัก ญาติร่วมตระกูลแซ่แต้.

ในวันศุกร์ที่ 2 มีนาคม 2561 เวลา19.00 – 21.30 น.

ณ.ศาลบรรพบูชานุสรณ์สมาคมเตชะสัมพันธ์ ถนนพระราม3

งานนี้มีจับฉลากแจกผู้โชคดี ที่มาร่วมงานด้วยนะคะ

We use our own and third-party cookies to personalize content and to analyze web traffic. Privacy Policy.