ขอนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเรื่องของการปราบดาภิเษกของพระองค์ เนื่องจากว่า ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๑ นี้ จะครบรอบ ๒๕๐ ปี แห่งการขึ้นครองราชย์
ซึ่งทุกวันที่ ๒๘ ธันวาคม พวกเราชาวสมาคมเตชะสัมพันธ์จะไปร่วมเดินเทิดพระเกียรติและวางพานพุ่มเพื่อสักการะพระองค์ที่พระบรมราชานุสาวรีย์วงเวียนใหญ่
สำหรับความเป็นมาของพิธีปราบดาภิเษกขึ้นเสวยราชย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มิได้มีปรากฏอยู่ในพระราชพงศาวดารใด ๆ เลย เพียงแต่มีนักวิชาการในรุ่นก่อน ได้ตีความเอาจากในพระราชพงศาวดารว่า
“..ครั้นถึง ณ วันอังคารเดือนอ้ายแรมสี่ค่ำปีชวดสัมฤทธิศกเพลาเช้าโมงเศษเสด็จออก ณ ท้องพระโรง พร้อมด้วยท้าวพระยามุขมนตรีทั้งหลายผู้ใหญ่ผู้น้อย..”
จึงยึดถือเอาวันที่ปรากฏนี้ เป็นวันปราบดาภิเษก พอเอาไปเทียบปฏิทิน ๑๐๐ ปี ก็จะไปตรงกับวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑
กระทั่งมาถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๗ มีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วงเวียนใหญ่ นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดธนบุรี (ในเวลานั้น) ซึ่งเป็นผู้ผลักดันในการจัดสร้าง ได้นำเสนอต่อรัฐบาล จอมพล ป.พิบูลสงคราม ให้กำหนดวันประจำปีสำหรับเทิดพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โดยให้ใช้วันปราบดาภิเษกเป็นหลัก
แต่ได้เกิดปัญหาขึ้นเมื่อ ทางราชการได้คำนวณวันคลาดเคลื่อนไป ได้ออกหนังสือกำหนดการเป็นวันที่ ๒๗ ธันวาคม นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ ทราบเรื่องเข้า จึงรีบส่งหนังสือไปขอแก้ไขวัน ให้เป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคมแทน ทางกระทรวงวัฒนธรรมจึงมีหนังสือออกมาใหม่ ให้ใช้วันที่ ๒๘ ธันวาคม เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี (ในเวลานั้น พระนามทางราชการยังเอ่ยพระนามเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๔ จึงได้เปลี่ยนเป็น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)
แต่ทว่า ในเวลานั้น กำหนดการที่ลงวันที่ ๒๗ ธันวาคม ได้ถูกส่งออกไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว นายทองอยู่ พุฒพัฒน์จึงต้องรีบเร่งทำงานแข่งกับเวลา ไปชี้แจงหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับกำหนดการเดิมไป ให้แก้ไขเป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม
ในที่สุด ปัญหาเรื่องวันที่คลาดเคลื่อนก็สามารถแก้ไขได้ด้วยความมุมานะของนายทองอยู่ กำหนดการได้ถูกแก้ไขให้ถูกต้องเป็นวันที่ ๒๘ ธันวาคม เป็นวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจวบจนกระทั่งปัจจุบันนี้
สำหรับการประกอบพระราชพิธีปราบดาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ไม่ได้มีปรากฏในเอกสารใด อาจเป็นเพราะว่า ในขณะนั้นสถานการณ์ของบ้านเมืองยังไม่เข้าที่เข้าทาง แต่ในนิราศกวางตุ้ง ซึ่งพระยามหานุภาพได้แต่งบรรยายเหตุการณ์การเดินกองเรือราชทูตจากกรุงธนบุรีไปเจริญสัมพันธ์ไมตรีที่เมืองจีน มีอยู่ช่วงหนึ่ง ได้รจนาถึงการนำเอาความดีงามมาเปรียบเทียบกับเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
มาถึงตรงนี้ หวังว่า ท่านผู้อ่านคงจะได้ข้อมูลว่าวันสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และวันที่ ๒๘ ธันวาคมของปีนี้ จะครบ ๒๕๐ ปี แห่งการปราบดาภิเษก จึงขอให้ทุกท่านได้น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระองค์กันครับ
สุชาติ กนกรัตน์มณี
ประธานชมรมตามรอยเจ้าตาก