เทศกาลงานชิวฮุง มาจากอะไร?
เทศกาลชิวฮุงคือ เทศกาลกึ่งกลางฤดูใบไม้ร่วง ศารทวิษุวัต (mid fall) หรือ autumn equinox เป็นวันที่วงโคจรของโลกเรากับดวงอาทิตย์ตัดกันในตำแหน่งที่ทำให้โลกเรามีเวลากลางวันและกลางคืนเท่ากันพอดี
ถือเป็นช่วงกึ่งกลางฤดูกาลของการเก็บเกี่ยวของประเทศที่อยู่ในภูมิภาคเขตอบอุ่นและเขตหนาวแล้ว(จีนอยู่ในเขตนี้ด้วย) จึงจะต้องเตรียมการเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันการณ์ (ใบไม้ร่วง พืชพรรณ สลัดทิ้งใบทิ้งต้น คนจีนจะเริ่มถนอมอาหารประเภทพืชผักไว้สำหรับฤดูหนาว สัตว์ต่างๆเริ่มสะสมอาหารและจำศีล มนุษย์เริ่มสะสมพืชพันธุ์อาหารด้วย(คนจีนจะเริ่มเข้าเทศกาล กินผัก การกินเจ มาจากรากฐานของการกินผักนี้) เริ่มเข้าสู่การนัดพบกันในการวางแผนเรื่องอาหารให้เพียงพอ จึงเกิดเทศกาลการกินเจ เพราะจะเข้าสู่ฤดูหนาวอันยาวนานถึงสามเดือนแล้ว
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เผย 23 กันยายน 2562 เป็นวันศารทวิษุวัต ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า วันที่ 23 กันยายนนี้ จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เวลาในช่วงกลางวันยาวเท่ากับกลางคืน ประเทศทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox)
สำหรับประเทศไทยในวันที่ 23 กันยายน 2562 ดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06.22 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 18.28 น. (เวลา ณ กรุงเทพมหานคร) หลังจากวันดังกล่าว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ จนถึงวันที่ 22 ธันวาคม 2562 จากนั้นจะเคลื่อนกลับทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในหนึ่งปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต (Vernal Equinox) ประมาณวันที่ 20 หรือ 21 มีนาคม และ วันศารทวิษุวัต (Autumnal Equinox) วันที่ 22 หรือ 23 กันยายน ทำให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน
นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทำให้ในรอบหนึ่งปี โลกจึงมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ช่วงที่ใกล้ที่สุดประมาณต้นเดือนมกราคม (147 ล้านกิโลเมตร) และช่วงที่ไกลที่สุดประมาณต้นเดือนกรกฎาคม (152 ล้านกิโลเมตร) เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของระยะทางใกล้-ไกล ในการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ถือเป็นอัตราส่วนที่น้อยมาก จึงไม่มีผลต่อการเกิดฤดูกาลแต่อย่างใด การที่แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกจึงรับแสงอาทิตย์ได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่า ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
สำหรับคำว่า Equinox (อิควินอกซ์) มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน 2 คำ คือ Aequus แปลว่า เท่ากัน และ Nox แปลว่า กลางคืน ดังนั้นจึงแปลรวมกันว่า “กลางวันยาวนานเท่ากับกลางคืน” ส่วน “วิษุวัต” แปลว่า “จุดราตรีเสมอภาค” เกิดในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง จึงเรียกว่า Vernal Equinox (วสันตวิษุวัต) และ Autumnal Equinox (ศารทวิษุวัต)
เนื่องจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ เกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์
- วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) ในปี 256 ตรงกับวันที่ 21 มี.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
- วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว
- วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 23 ก.ย. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
- วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) ในปี 2562 ตรงกับวันที่ 22 ธ.ค. เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน
Cr: อ.วิศิษฐ์ เตชะเกษม