Screenshot 2024-04-02 140439
ชีวประวัติย่อ
ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ภูมิลำเนาเดิมของบรรพบุรุษอยู่ที่ หมู่บ้านซัวเล่ง อำเภอแต้เอี้ย มณฑลกวางตุ้ง ประเทศสาธารณประชาชนจีน ได้รับการอบรมบ่มเพาะจากครอบครัวเป็นอย่างดีในช่วงปฐมวัย เฉลียวฉลาด มีปฎิภาณ ขยันหมั่นเพียร ใฝ่ศึกษา ก่อนจบการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ ท่านเป็นนักเรียนดีเด่นจากโรงเรียนเผยอิง และโรงเรียนซิงมิ้งมาก่อน ท่านเป็นผู้ปราดเปรื่อง ทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ ยิ่งกว่านั้นท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญการเขียนอักษรวิจิตรศิลป์ ภาษาจีน ได้อย่างเลิศล้ำ ลายมืออ่อนช้อยแต่ทรงพลัง มีชีวิตชีวาและสง่าราศี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของท่าน ชื่อป้ายสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลหัวเฉียว และสมาคมเตชะสัมพันธ์ ล้วนเป็นลายมือของท่านทั้งสิ้น ท่านดำรงตำแหน่งประธานกรรมการป่อเต็กตึ้งเมื่ออายุเพียง 23 ปีเท่านั้น เนื่องจากท่านเป็นนักบริหารผู้ปราดเปรื่อง กิจการป่อเต็กตึ๊งจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด ปัจจุบันป่อเต็กตึ๊งนับเป็นองค์กรมูลนิธิที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผลงานโดดเด่นคือ การเปลี่ยนสถานภาพสถานผดุงครรภ์มาเป็นโรงพยาลบาลหัวเฉียว โดยที่ท่านเป็นผู้ดำริและนำคณะกรรมการอำนวยการก่อตั้งและวางแผนก่อสร้างโรงพยาบาลหัวเฉียวอาคาร 22 ชั้น เริ่มดำเนินการปี ค.ศ. 1970 และก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ปี ค.ศ. 1979 ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ให้การรักษาผู้ป่วยทุกสาขาโรคาพยาธิที่ทันสมัย และสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย และเป็นที่ปลื้มปิติโสมนัสสุดที่จะพรรณาก็คือ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นองค์พระประธานพิธีเปิด ในวันสถาปนาเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมในปีเดียวกัน พระองค์ทรงปลื้มพระราชหฤทัยและทรงเกษมสำราญยิ่ง เมื่อทรงทอดพระเนตรโรงพยาบาลอันโอ่อ่าอลังการ ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องพระพักตร์ นี่คือการเฉลิมฉลองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในหลายทศวรรษที่ผ่านมาของสังคมไทยในขณะนั้น ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ต่างชื่นชมและศรัทธาต่อมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งและโรงพยาบาลหัวเฉียว ที่คอยให้การรักษาพยาบาลและช่วยชีวิตคนยากไร้และผู้ประสบภัยต่าง ๆ โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ ในขณะที่มีการรณรงค์เรื่องการบริจาคและครอบครัวโดยไม่เป็นแก่ความเหน็ดหนื่อย ดังนั้นจึงได้รับการยกย่องสรรเสริญจากบุคคลทั่วไปว่าเป็นนักสังคมสงเคราะห์เปี่ยมด้วยคุณธรรม

ญี่ปุ่นแพ้สงครามโดยไม่มีเงื่อนไขเมื่อ ค.ศ. 1945 ประเทศจีนได้อธิปไตยคืนมา เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง แถวเยาวราชมีแต่เรื่องวุ่นวายไม่สงบสุขโดยเฉพาะในสังคมชาวจีนน่าเป็นห่วง ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงได้ร่วมมือกับอธิบดีตำรวจขณะนั้น ช่วยกันจัดตั้งหน่วยสารวัตรตำรวจไทยจีน หรือเรียกว่าหน่วยรักษาความปลอดภัยไทยจีนผสม ออกตรวจตรารักษาความสงบ หลังจากสงครามต่อต้านญี่ปุ่น 8 ปีผ่านไปไม่นาน ประเทศจีนก็ประสบภัยธรรมชาติซ้ำเติมอีกระลอกหนึ่ง ส่งผลให้ประชาชนในมณฑลตอนใต้อดอยากยากแค้นทุกหย่อมหญ้า ผู้คนเจ็บป่วยล้มตายทุกหัวระแหง ยังความเศร้าสลดและทุกข์เวทนาแก่ผู้พบเห็นยิ่งนัก เมื่อท่านทราบข่าวร้ายนี้แล้วรู้สึกห่วงใย และสงสารประชาชนในประเทศจีนที่ประสบชะตากรรมถูกภัยธรรมชาติคุกคาม จนเกิดทุพภิกขภัย จึงได้ดำริจัดตั้ง “คณะกรรมการบรรเทาทุพภิกขภัยมาตุภูมิแห่งประเทศไทย” ขึ้น และท่านได้รับเลือกตั้งเป็นประธานด้วยบารมีและสถานภาพสูงส่ง ท่านเชิญชวนชาวจีนที่พำนักอยู่ในประเทศไทยช่วยกันร่วมบริจาคข้าวสาร เพื่อบรรเทาทุกข์ของพี่น้องร่วมชาติ ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้รับบริจาคข้าวสาร 3 แสนกว่ากระสอบในเวลาอันสั้น เท่ากับ 30 ล้านบาท อีกทั้งได้รับการช่วยเหลือจากสหประชาชาติที่ส่งกระสอบข้าวสารมาให้ถึง 3 แสนใบ ส่งเรือขนส่งมาช่วยบรรทุกข้าวสารอีก 15 ลำ ในที่สุดท่านจึงนำ “คณะกรรมการบรรเทพทุพภิกขภุยมาตุภูมิแห่งประเทศไทย” ไปมอบข้าวสารให้กับประเทศจีนเพื่อไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยดัวยตนเอง ส่งผลให้ผู้ประสบภัยได้รับแจกข้าวสารอย่างทั่วถึง ประหนึ่งหยาดฝนอันชุ่มฉ่ำที่หลังมาจากฟากฟ้าก็มิปาน

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งธนาคารศรีนคร เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัการใหญ่ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารศรีนคร ในฐานะที่ท่านเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการเงินการธนาคารมาเนิ่นนาน ด้วยประสบการณ์ที่ช่ำชอง ดังนั้น จึงได้บริหารกิจการของธนาคารศรีนครให้รุ่งโรจน์มาโดยตลอด ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมธนาคารไทยติดต่อกัน 4 สมัย ได้รับการยกย่องจากวงการเงินการธนาคารทั้งในและต่างประเทศ ว่าเป็นผู้กว้างขวางและเชี่ยวชาญการเงินการธนาคารในภูมิภาคเอเซียอาคเนย์ ยิ่งกว่านั้นด้านกิจกรรมสังคมสงเคราะห์ ท่านก็บำเพ็ญประโยชน์มาอย่างโชกโชนหลายสิบปี ถือว่าเป็นบุคคลตัวอย่างของสังคมโดยแท้จริง

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ดำรงตำแหน่งประธาน “สมาคมกีฬาชาวไทยเชื้อสายจีน” เมื่อ ค.ศ. 1946 ควบคุมดูแลการคัดเลือกนักกีฬาดีเด่น จัดตั้ง “คณะตัวแทนกีฬา” เช่าเหมาลำเครื่องบินไปร่วมแข่งขันกีฬาแห่งชาติที่ประเทศจีน ท่านเป็นประธานคณะเตรียงงานในการก่อสร้าง “สมคมเตชะสัมพันธ์” เมื่อ ค.ศ. 1970 และเปิดประชุมใหญ่สามัญสมาชิกเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายนในปีเดียวกัน ท่านได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมสมัยที่ 1 ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมติดต่อกัน 11 สมัย ท่านเคยดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์สมาพันธ์ตระกูลแซ่แต้สากล ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติภูมิอันสูงสุดต่อสมาคมเตชะสัมพันธ์ในประเทศไทย ปัจจุบันท่านดำรงตำแหน่งประธานถาวรของสมาคมเตชะสัมพันธ์

เพื่อเป็นการรำลึกและแสดงออกซึ่งกตเวทิตาคุณต่อบรรพบุรุษ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงได้ก่อตั้ง “มูลนิธิเตชะไพบูลย์” เมื่อ ค.ศ. 1972 ท่านเคยดำรงตำแหน่งประธานมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษามหาวิทยาลัย มัธยมศึกษา และประถมศึกษาทั่วประเทศทุกปี บริจาคเงินช่วยเหลือโรงพยาบาล องค์กรสงเคราะห์และมูลนิธีต่าง ๆ ทั้งเป็นผู้รณรงค์ก่อตั้ง “คณะกรรมการกองทุนเพื่อสาธารณประโยชน์แห่งประเทศไทย” ท่านดำรงตำแหน่งประธานสมัยที่ 1 และ 2 ติดต่อกัน ท่านสามารถรณรงค์บริจาคเงินได้ 9 ล้านกว่าบาทภายในระยะเวลา 2 ปีเท่านั้น ส่งผลให้ “คณะกรรมการกองทุนเพื่อสาธารณประโยชน์” ปฏิบัติหน้าที่และบรรเทาภัยพิบัตินานัปการได้อย่างราบรื่น

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานแต่งตั้งเป็นกรรมการ “สภากาชาดไทย” เมื่อ ค.ศ. 1977 และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ “คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ” เมื่อ ค.ศ. 1979 ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานโดยตำแหน่ง อธิบดีแต่ละกรมกองเป็นกรรมการ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนบุคคลแรกที่ได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้

หลายสิบปีมานี้ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ได้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมสงเคราะห์อย่างสม่ำเสมอมาโดยตลอด ไม่เคยว่างเว้น จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานอิสริยาภรณ์ปรถมาภรณ์ช้างเผือก เมื่อ ค.ศ. 1980 ต่อมามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ชื่นชมกิตติมศักดิ์ของท่าน จึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาบริหารธุรกิจแก่ ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ในปีเดียวกันเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ ต่อมาได้รับพระราชทานพระราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้าเมื่อ ค.ศ. 1984 และได้รับพระราชทานพระราชอิสริยาภรณ์มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก และปฐมดิลกคุณาภรณ์ตามลำดับ เมื่อ คศ. 1996 นับว่าเป็นเกียนติอันสูงสุดต่อชาวไทยเชื้อสายจีนทั่วประเทศอีกด้วย

เนื่องจาก ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ มีคุณากรแห่งวงการสังคมสงเคราะห์ ที่สละเวลา เงินทองและความสุขส่วนตัว ทุ่มแทชีวิตจิตใจอุทิศตนบำเพ็ญประโยชน์ต่องานสังคมสงเคราะห์จวบจนทุกวันนี้ ชื่อเสียงและเกียรติคุณของท่านขจรขจายทั่วปฐพีทั้งใกล้ไกล ดังนั้น สมาคมหอการค้าไทย-จีน สมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย มูลนิธิไกซิ่วตึ๊ง โรงพยาบาลเทียนฟ้าในประเทศไทย และสมาคมแต้จิ๋วซานฟรานซิสโกแห่งสหรัฐอเมริการ เป็นต้น ต่างชื่นชมในบารมีของท่าน เชื้อเชิญท่านดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ถาวร ด้วยความปิติเพื่อเป็นเกียรติแก่สมาคมของตนสืบต่อไป นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้รณรงค์ส่งเสริม “การประหยัดและตรงต่อเวลา” ซึ่งเป็นวัฒนธรรมอันดีงาม ขจัดค่านิยมที่ฟุ้งเฟ้อของสังคมได้รับความสนับสนุนจากทุกวงการ พร้อมทั้งการแซ่ซ้องจากสื่อมวลชนทุกแขนงอย่างท่วมท้น

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นผู้ก่อตั้ง นิคมอุตสาหกรรมบางปู ขึ้น ที่ชานเมืองด้านตะวันออกของกรุงเทพมหานคร เมื่อ ค.ศ. 1980 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณหมื่นไร่ อยู่ริมฝั่งทะเล ทำเลดีมาก การสัญจรสะดวก พื้นที่พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมโดยสมบรูณ์ และดำเนินการผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ มากกว่า 6 พันไร่แล้ว ภายในมีสนามกอล์ฟที่ทันสมัยคอยให้บริการสมาชิกและบุคคลทั่วไป ปัจจุบันโครงการนิคมอุตสาหกรรมบางปูได้รับความสนใจทั้งในและต่างประเทศมาก กิจการรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ต่อมา ค.ศ. 1984 ท่านได้ก่อสร้างเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ขึ้น ที่สี่แยกราชประสงค์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของกรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมาด 67 ไร่ ลงทุนประมาณหมื่นล้านบาท นับว่าเป็นการลงทุนในกิจการประเภทเดียวกันที่สูงเป็นประวัติการณ์

ฤดูเหมันต์ ค.ศ. 1982 ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ นำนักดนตรี 80 คนจัดตั้ง วงดุริยางค์ซิมโฟนี กรุงเทพฯ ต่อมา ค.ศ. 1985 ได้จดทะเบียนเป็นกองทุนมูลนิธีในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยมี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นประธาน

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นผู้ดำริและรณรงค์เปลี่ยนสภาพจากวิทยาลัยหัวเฉียว มาเป็น มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ เมื่อ ค.ศ. 1990 ซึ่งอยู่ในสังกัดของมูลนิธีป่อเต็กตึ๊ง มีวัตถุประสงค์ผลิตบุคลากรแขนงต่าง ๆ ตอบสนองอุปสงค์การพัฒนาเศรษฐกิจและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของประเทศชาติ ท่านดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการก่อสร้างมหาวิทยาลัย และได้บริจาคเงินก่อสร้างในนามบิดาของท่าน 100 ล้านบาท สร้างหอประชุมใหญ่เป็นคนแรก จากนั้นท่านได้เขิญชวนบุคคลในวงการต่างๆ มาร่วมใจบริจากเงินโดยได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้น ได้เงินบริจาคเกือบ 1,000 ล้านบาทภายในเวลาอันสั้น สถานที่ก่อ่สร้างตั้งอยู่ที่ ถนนบางนา-ตราด มีพื้นที่ทั้งหมด 140 ไร่ โครงการแรกอาคารเรียนสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1994 โดยเฉพาะเป็นที่ปลื้มปิติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานชื่อให้มหาวิทยาลัยว่า “มหาวิทยลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ” และเสด็จเป็นองค์ประธานพิธีเปิดในวันสถาปนาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2537 นำมาซึ่งเป็นสิริมงคลและเป็นเกียรติประวัติอันสูงสุดต่อมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ

ระหว่างเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ค.ศ. 1991 ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ รวม 18 มณฑลของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประสบอุทกภัยอย่างร้ายแรงที่สุดใน 100 ปี ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ในฐานะประธานสมาพันธ์บรรเทาทุกข์แห่งประเทศไทย จึงได้รณรงค์บริจาคข้าวสารและเวชภัณฑ์อีกจำนวนมาก ท่านดำรงตำแหน่งหัวหน้า “คณะเยี่ยมเยียมสร้างขวัญกำลังใจ” นำสิ่งของบรรเทาทุกข์ไปมอบให้ทางการประเทศจีน ท่านนำคณะบินตรงไปยังนครปักกิ่งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 1991 และเข้าเยี่ยมคารวะประธานธิบดี หยางซ่างคุน เมื่อตอนบ่ายของวันรุ่งขึ้น (วันที่ 23 ) ที่เรือนรับรองแขกเมืองเตียวหยูไถ นครปักกิ่ง ประธานธิบดีมีความปิติและซาบซึ้งอย่างยิ่งที่เห็น “คณะเยี่ยมเยี่ยนสร้างขวัญกำลังใจ” จากแดนไกล นำข้าวสาร 3 หมื่นกระสอบ เวชภัณฑ์และพระพุทธรูปบูชาล้ำค่า 15 องค์ที่สมเด็จพระสังฆราชพระราชทานให้ข้ามน้ำข้ามทะเลมามอบให้ ทั้งยังปฏิเสธการเลี้ยงต้อนรับขององค์กรต่าง ๆ ด้วยความเห็นใจ ฯพณฯ หยางซ่างคุน เป็นผู้รับมอบด้วยตนเอง และขอบคุณในน้ำใจไมตรีของผู้แทน “คณะกรรมเยี่ยมเยียนสร้างขวัญกำลังใจ” ชาวไทย พร้อมทั้งให้การตอนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ ในนามประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกับเลขานุการสถาบันราชภัฎ กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบพิธีลงนามในสัญญาร่วมมือก่อตั้ง “สถาบันพัฒนาครูสอนภาษาจีน” เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1996 เนื่องจากเล็งเห็นความสำคัญของครู ซึ่งเป็นพลังการผลิตทรัพยากรพระเกียรติจึงเป็นปณิธานสูงสุดของท่าน เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูการศึกษาภาษาจีน ที่ขาดตอนไปเกือบครึ่งศตวรรษให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป และให้จัดปฐมนิเทศขึ้น ณ สถาบันพัฒนาครูสอนภาษาจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ วิทยาเขตยศเส เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1996

เมื่อ คุณอุเทน เตชะไพบูลย์ รับหน้าที่ดำเนินการก่อสร้างศาลบรรพชน ก็ได้วางแผนงานก่อสร้าง และได้ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานคร จัดตั้งศูนย์บริการอนามัยขึ้นที่หน้าศาลบรรพชน โดยสร้างเป็นตึกสามชั้นใช้เป็นที่ทำการ ทางกรุงเทพมหานครเป็นผู้จัดบุคลากรทางการแพทย์มาประจำการ ให้บริการรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บไข้ได้ป่วยในระแวกนั้น กำแพงเก้ามังกรที่สร้างอยู่หน้าลานศาลบรรพชนนั้น ได้เลียนแบบกำแพงเก้ามังกรพระราชวังเก่าในกรุงปักกิ่ง ซึ่งเป็นแนวความคิดของคุณอุเทน เตชะไพบูลย์ การสร้างกำแพงเก้ามังกรตัวจริงมีราคาแพงมาก คุณอุเทนจึงได้ส่งผู้เชี่ยวชาญไปลอกแบบแนบจากพระราชวังเก่าในกรุงปักกิ่ง เมื่อสร้างเสร็จมีความสวยงามไม่แพ้กัน แต่ประหยัดเงินได้เป็นจำนวนมากนอกจากนี้ ได้ออกวารสารสมาคมเตชะสัมพันธ์ สาระในวารสาร นอกจากรายงานกิจกรรมของสมาคมแล้ว ยังได้ลงเรื่องราวบรรพชนตระกูลแต้ เชิดชูเกียรติภูมิและหลักคำสอน เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับอนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งได้มอบทุนการศึกษา ให้กับลูกหลานสมาชิกตระกูลแต้ที่ยากจนแต่เรียนดี ที่น่าสนใจคือตั้งชมรมออกกำลังกายตอนเช้าหย่งเอี๊ยง โดยมีคุณอุเทนเป็นผู้นำในการวิ่งออกกำลังกายตอนเช้า ที่หน้าลานศาลบรรพชน ซึ่งมีผู้เข้าร่วมหลายร้อยคน บางครั้งมีจำนวนคน นับพัน นับได้ว่าใหญ่โตไม่เบา

คุณอุเทนยังได้ตั้งศูนย์เยาวชนขึ้นที่ศาลบรรพชน จัดให้มีกิจกรรมและการละเล่นต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย บ่มเพาะผู้ร่วมตระกูลเยาวชนเพื่อสืบทอดงานของสมาคมเตชะสัมพันธ์ต่อไป เมื่อทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย คุณอุเทนได้มอบตำแหน่งนายกสมาคมให้กับคุณแต้ชั่งกีดำรงต่อไป และจากการที่ท่านรู้จักเลือกสรรผู้ที่เหมาะสมมาสืบทอดนี้เอง ทำให้กิจกรรมของสมาคมเตชะสัมพันธ์มีความก้าวหน้า เจริญรุ่งเรืองต่อไป

ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ เป็นคนสุภาพอ่อนโยน นอบน้อมถ่อมตน ใจกว้างจิตปล่อยวางไม่ยึดติดกับลาภยศสรรเสริญแต่ประการใด ใจบุญสุนทาน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โปรดปรานดนตรี ภาพเขียน และอักษรวิจิตศิลป์เป็นชีวิตจิตใจส่วนด้านการศึกษาและคุณธรรม ท่านได้รับฝึกฝนขัดเกลามาจากครอบครัวเป็นเลิศ ดังนั้น ดร.อุเทน เตชะไพบูลย์ จึงเป็นปูชนียบุคคลที่ภาครัฐและเอกชนเคารพ ยกย่องและเชิดชูเกียรติคุณมาตลอดโดยไม่เสื่อมคลาย